
รามเกียรติ์ 234
เนื่องด้วยข้อจำกัดทางการสื่อสาร การศึกในสมัยก่อนจึงจำเป็นต้องมีตำแหน่งผู้รายงานเหตุการณ์ต่างๆในสนามรบแก่เจ้าครองนครเป็นระยะๆ ผู้ที่เป้นม้าเร็วนำข่าวมารายงานจะมีตำแหน่งเรียกว่า สารัณทูต (มิได้เป็นชื่อยักษ์ตนใดตนหนึ่งเท่านั้น) ในครั้งนี้ก็เหมือนกันหลังจากที่พญาแสงอาทิตย์ต้องศรของพระรามจนตาย ยักษ์ที่มีตำแหน่งสารัณทูตสองตนรีบควบม้าเข้าเฝ้าพญาทศกัณฐ์ รายงานอย่างตรงไปตรงมา “บัดนี้พญาแสงอาทิตย์ พระนัดดาได้พลีชีพเพื่อลงกาแล้วพะยะค่ะ” พญาทศกัณฐ์นั่งนิ่งตะลึงคิดเสียดายชีวิตหลานชายยิ่งนัก ความเศร้าบัดนี้กลายเป็นความโกรธ
“ไอ้พวกมนุษย์ลิงป่า มันคงจะไม่เกรงกลัวชาวเราเผ่าอสูรอีกแล้วสินะ คราวนี้เห็นทีกูต้องจะออกศึกเองเพื่อล้างแค้นให้หลานกู กูจะหั่นศพพวกมันมิให้ครือคอกาเลยทีเดียว… มโทรเสนาแห่งเรา เจ้าจงจัดทัพให้พร้อมเพื่อเคลื่อนพลออกไปบดขยี้พี่น้องรามลักษณ์แต่ยามฟ้าสาง” มโหทรถวายบังคมแล้วถอยออกไปจัดทัพ การจัดขบวนศึกคราวนี้แบ่งเป็นหมวดหมู่ตามลักษณะหน้าหรือสายพันธุ์ของยักษ์ดังนี้
เกณฑ์หมู่จตุรงค์องอาจ เลือกล้วนสามารถแข็งขัน
หมู่หนึ่งหน้าไพร่ใจฉกรรจ์ ใส่เสื้อสีจันทร์ถือทวนแทง
หมู่หนึ่งหน้ากากเสื้อดำ ถือหอกกรายรำกวัดแกว่ง
หมู่หนึ่งหน้าแสยะเสื้อแดง ถือธนูคอนแล่งลูกยา
หมู่หนึ่งหน้าขบเสื้อขาว โพกหัวถือง้าวเงื้อง่า
ขุนช้างขี้ช้างชนะงา ขุนมาม้าขี่ม้าอัสดร
ขุนรถขึ้นขี่รถศึก ห้าวฮึกล้วนถือธนูศร
ต่างตนต่างอวดฤทธิรอน คอยเสด็จบทจรอสุรีฯ พระราชนิพนธ์ในร. 1
หากมาพิจารณาหน้ายักษ์ที่แตกต่างกัน คงแสดงถึงเผ่าพันธุ์ที่แตกต่างของประชาชนของลงการนคร
หน้าไพร่ หน้ากาก น่าจะเป็นลักษณะเขนยักษ์หรือยักษ์ไพร่ พลยักษ์ที่มียศต่ำสุด ใส่เสื้อสีเหลือง เสื้อสีดำ
หน้าแสยะ คือยักษ์ที่มีลักษณะยิงฟันแลเห็นเคี้ยว เช่นเคี้ยวของทศกัณฐ์ (ขอบปากจะบานออก ยกขึ้น) ใส่เสื้อสีแดง
หน้าขบ คือยักษ์ที่มีปากลักษณะฟันบนข่มริมฝีปากล่าง เช่นอินทรชิต (ขอบปากจะโค้งลง ไม่บาน) ใส่เสื้อสีขาว
ยักษ์แต่ละหน้าจะแบ่งเป็นหมวดหมูชัดเจน ใส่เสื้อสีต่างกัน ใช้อาวุธคนละชนิด