ผลตอบแทนที่เราจะได้จากการลงทุนในกองทุนรวม FIF ก็เหมือนกับผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในกองทุนรวมโดยทั่วไป ซึ่งจะได้มาใน 2 รูปแบบ คือ Capital Gain หรือกำไรส่วนเกินจากมูลค่าหน่วยลงทุน และ Dividend หรือเงินปันผล (ซึ่งนักลงทุนจะได้ หรือไม่ได้รับเงินปันผล ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายการจ่ายเงินปันผลของกองทุน)
สำหรับความเสี่ยงของกองทุนรวม FIF เป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนต้องศึกษาให้เข้าใจ เพราะจะมีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องนอกเหนือไปจากความเสี่ยงของกองทุนรวมที่ลงทุนในประเทศทั่วไป โดยความเสี่ยงของกองทุนรวม FIF มีดังนี้
ความเสี่ยงของหลักทรัพย์ที่ลงทุน เช่น กรณีของกองทุนรวมหุ้น ก็มีความเสี่ยงหลักๆ จากภาวะราคาหุ้นในตลาดผันผวน
หากเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ ก็มีความเสี่ยงหลักๆ เรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหรือเรื่องสภาพคล่อง เป็นต้น ในกรณีของตราสารหนี้ ผู้ลงทุนควรดูว่าไปลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐหรือเอกชน อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารและหลักทรัพย์เป็นอย่างไรด้วย โดยที่อันดับความน่าเชื่อถือจะถูกแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ Investment Grade หรือ กลุ่มน่าลงทุน (AAA ถึง BBB-) และ Speculative Grade หรือกลุ่มเก็งกำไร (BB+- ลงไปจนถึง D)
ความเสี่ยงของสภาพเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศที่กองทุนรวมเข้าไปลงทุน (Country Risk) ซึ่งจะเกิดได้จากการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย การเมือง หรือความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ
ความเสี่ยงในเรื่องข้อจำกัดในการนำเงินลงทุนกลับประเทศ (Repatriation Risk) เป็นความเสี่ยงที่ประเทศที่ลงทุนอาจออกมาตรการ Capital Control ทำให้ไม่สามารถนำเงินลงทุนและผลตอบแทนกลับประเทศไทยได้ตามที่คาด
ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Foreign Exchange Rate Risk) ซึ่งเกิดจากการที่กองทุนรวมต่างประเทศ ต้องมีการแลกเปลี่ยนเงินบาทให้เป็นเงินสกุลต่างประเทศก่อนเพื่อนำเงินออกไปลงทุน เมื่อได้รับผลตอบแทนและเงินต้นในรูปเงินสกุลต่างประเทศก็ต้องแลกเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินบาทเพื่อจ่ายคืนให้กับผู้ลงทุนที่ต้องการไถ่ถอนหน่วยลงทุน หรือจ่ายคืนให้ผู้ลงทุนเมื่อกองทุนรวมต่างประเทศครบกำหนดไถ่ถอน
โดยทั่วไปความเสี่ยงด้านนี้สามารถลดลงได้โดยการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือที่เรียกว่า Hedging เช่น การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อล็อกค่าเงินบาทไว้ในอัตราที่ผู้จัดการกองทุนคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับกองทุนรวมในอนาคต เป็นต้น แต่การทำ Hedging จะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับลดลง บลจ. จึงอาจเลือกทำ Hedging ค่าเงินทั้งหมด/เกือบทั้งหมด ทำ Hedging ค่าเงินไว้แค่บางส่วน หรือไม่ทำ Hedging เลยก็ได้
โดย ก.ล.ต. ได้กำหนดให้ บลจ. ต้องบอกให้ผู้ลงทุนทราบอย่างชัดเจนถึงความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในสกุลเงินของหลักทรัพย์ที่กองทุนรวมไปลงทุน (Currency of Underlying Investment) และนโยบายที่ใช้เพื่อบริหารความเสี่ยงนั้นในหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนนั้นๆ และยังต้องเปิดเผยไว้ในเอกสารทุกประเภทที่ใช้ประกอบการเสนอขายกองทุนรวม เช่น เอกสารโฆษณาประชาสัมพันธ์และเอกสารที่ใช้แจกในงานสัมมนาของกองทุนรวมอีกด้วย และต้องระบุด้วยว่าได้ป้องกันความเสี่ยงแบบใดไว้ใน 4 แบบเหล่านี้ ได้แก่
ป้องกันความเสี่ยงทั้งจำนวน (อนุโลมให้ป้องกันความเสี่ยงไว้ ไม่ต่ำกว่า 90% ของจำนวนเงินลงทุนสำหรับกองทุนรวมที่มีลักษณะพอร์ตการลงทุนที่เคลื่อนไหว)
ป้องกันความเสี่ยงเพียงบางส่วน ซึ่งจะต้องระบุสัดส่วนให้ชัดเจน
ป้องกันความเสี่ยงตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงไว้เลย โดยหากไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงไว้ทั้งจำนวนหรือเกือบทั้งจำนวน (ใช้วิธีตามข้อ 1 – 3) ก็ต้องเขียนคำเตือนผู้ลงทุนไว้ด้วยว่าอาจได้รับกำไรน้อยลงหรือได้รับเงินต้นคืนไม่ครบตามที่ได้ลงทุนไปแสดงไว้บนหน้าแรกของหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ เพื่อให้เห็นกันอย่างชัดเจนด้วย
นอกจากจะมีการเปิดเผยข้อมูลให้เห็นกันอย่างเด่นชัดแล้ว ก.ล.ต. ยังให้มีแนวปฏิบัติให้ บลจ. ต้องสามารถแสดงหลักฐานเพื่อเป็นการยืนยันได้ว่า ผู้ลงทุนในกองทุนรวมเหล่านี้ได้รับทราบความเสี่ยงและคำเตือนต่างๆ แล้ว ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงควรอ่านและทำความเข้าใจข้อมูลความเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนและการจัดการความเสี่ยงนี้ให้ดี ก่อนสั่งซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวม FIF
ปัจจุบัน บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ได้เปิดบริการซื้อ-ขายกองทุนรวมผ่านแอป SCB EASY INVEST โดยเปิดแค่เพียงบัญชีเดียว ก็สามารถซื้อกองทุนได้จาก 17 บลจ. ชั้นนำ กว่า 1,200 กองทุน ทั้งในไทยและต่างประเทศ ไม่ต้องยื่นเอกสารเพิ่ม พร้อมฟังก์ชั่นแนะนำกองทุนรวมเด่นๆ ที่ลงทุนในต่างประเทศ ทำให้ผู้ลงทุนมีโอกาสลงทุนได้กว้างไกลมากขึ้น ไม่จำกัดเพียงการลงทุนภายในประเทศแต่เพียงอย่างเดียว แต่เปิดโอกาสให้คุณได้ลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศจากหลากหลายบลจ.โดยไม่ต้องยึดติดกับที่เดียวอีกต่อไป
สามารถอ่านรายละเอียดของแอป EASY INVEST ได้จาก http://www.scbs.com/easyinvest หรือดาวน์โหลดแอป EASY INVEST เพื่อเปิดกว้างโลกการลงทุนให้เป็นเรื่องง่ายแค่ปลายนิ้ว