
เมื่อวิเคราะห์ว่ากองทุนรวมที่มีระยะเวลาการถือครองหุ้นแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มนั้นมีผลการดำเนินงานอย่างไร ผ่านการวัดผลตอบแทนของกองทุนด้วยค่า Alpha นี้ ผลที่ได้พบว่ากองทุนรวมทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าวข้างต้น มีค่า Alpha ที่ต่ำมากไม่แตกต่างจากศูนย์อย่างมีนัยสำคัญ และมีแนวโน้มมีค่า Alpha เป็นลบ ดังแสดงในตารางที่ 1 นอกจากนี้ผลตอบแทนของกองทุนที่ถือครองหุ้นระยะยาวมีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของตลาดมากที่สุด สะท้อนให้เห็นว่ากองทุนรวมแบบ actively-managed funds ในไทยนั้นแทบจะไม่ได้นำเสนอคุณค่าที่ดีไปกว่าการลงทุนใน SET index เลย และผลตอบแทนกองทุนรวมหุ้นในไทยสามารถอธิบายได้โดยปัจจัย momentum ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการซื้อหรือขายหุ้นตามแนวโน้มการเคลื่อนไหวของราคา โดยความสัมพันธ์กับปัจจัย momentum นี้อาจสะท้อนพฤติกรรมที่กองทุนรวมหุ้นมักจะลงทุนในหุ้นเดิม ๆ ที่มีอยู่เมื่อได้รับเงินจากนักลงทุนเพิ่มขึ้น หรือการแข่งขันระหว่างกองทุนที่มักจะทำให้ซื้อหุ้นคล้าย ๆ กันก็เป็นได้
หมายเหตุ: ตารางนี้แสดงผลของการวิเคราะห์สมการถดถอยที่ใช้ excess returns (ผลตอบแทนเฉลี่ยรายเดือนของกองทุนในแต่ละกลุ่ม ลบด้วยผลตอบแทนของตั๋วเงินคงคลัง 1 เดือน) เป็นตัวแปรหลัก และ 6 ปัจจัยเป็นตัวแปรตาม จึงมีค่าสัมประสิทธิ์ที่สำคัญ 7 ค่า ประกอบด้วยปัจจัยทั้ง 6 และค่า Alpha ตัวเลขในวงเล็บเหลี่ยมคือค่า t-statistic ที่แสดงให้เห็นถึงนัยสำคัญทางสถิติ หากค่าสัมประสิทธิ์ของปัจจัยใดมีนัยสำคัญ สามารถอนุมานได้ว่ากองทุนกลุ่มนั้นนิยมลงทุนในหุ้นที่คุณลักษณะตามปัจจัยนั้น สัญลักษณ์ * เป็นตัวแทนของนัยสำคัญทางสถิติ ยิ่งมีจำนวนมากยิ่งมีนัยสำคัญมาก ส่วนค่า Adjusted R-squared เป็นค่าสถิติที่แสดงว่าสมการถดถอยนี้สามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรหลักได้มากเท่าไร ซึ่งค่า 1.00 (100%) หมายความแบบจำลองนี้อธิบายผลตอบแทนของกองทุนรวมได้อย่างสมบูรณ์
หากวิเคราะห์ลักษณะการเคลื่อนไหวของหุ้นที่ถือครองโดยกองทุนแต่ละกลุ่มที่จำแนกตามระยะเวลาการถือครอง (long-term funds และ short-term funds) และจำแนกตามมูลค่าการถือครองว่ากองทุนถือครองหุ้นบริษัทนั้นในสัดส่วน สูง กลาง หรือ ต่ำ จะพบว่าหุ้นที่มีกองทุนถือครองจะมีผลตอบแทนรายเดือนในอนาคตโดยเฉลี่ยสูงกว่าผลตอบแทนของตั๋วเงินคลัง 1 เดือน (excess return) ประมาณร้อยละ 0.9 ถึง ร้อยละ 1.47 ต่อเดือน ดังแสดงในภาพที่ 3 นอกจากนี้หุ้นที่ถือครองโดยกองทุนรวมในกลุ่ม short-term fund มีแนวโน้มที่จะมีผลตอบแทนในอนาคตที่ต่ำกว่าหุ้นที่ถือครองโดยกองทุนรวมที่อยู่ในกลุ่ม long-term fund เล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ คือผลตอบแทนของหุ้นที่กองทุนรวมถือไม่ว่าจะของกลุ่มใด ต่างมีผลตอบแทนที่สูงกว่าผลตอบแทนของหุ้นที่กองทุนรวมไม่ได้ถือค่อนข้างมาก โดยมีส่วนต่างของผลตอบแทนมากถึงประมาณร้อยละ 0.5 ต่อเดือน
ผลลัพธ์เชิงประจักษ์นี้สามารถตีความได้ 2 เหตุผล คือ 1) กองทุนรวมหุ้นในประเทศไทยมีความสามารถในการเลือกหุ้น (stock picking skills) เพราะหุ้นที่กองทุนถือมีผลตอบแทนในอนาคตที่ดีกว่าหุ้นตัวอื่น และ 2) กองทุนรวมหุ้นในประเทศไทยมุ่งเน้นลงทุนตามแนวโน้มราคาหุ้น (momentum) เลยทำให้ราคาหุ้นที่กองทุนถือปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง
ซึ่งเมื่อพิจารณาผลตอบแทนของกองทุนรวมในตารางที่ 1 ควบคู่กับพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในภาพที่ 3 มีความเป็นไปได้มากกว่าว่า การที่ผลตอบแทนของหุ้นที่กองทุนรวมถือมีค่าสูงกว่าหุ้นที่กองทุนรวมไม่ได้ถือนั้นไม่ได้เกิดจากความสามารถในการเลือกหุ้น เพราะสุดท้ายแล้วกองทุนรวมก็ไม่ได้มีผลตอบแทนที่โดดเด่นหรือสูงกว่าผลตอบแทนของตลาดรวมเลย การที่ผลตอบแทนของหุ้นที่กองทุนถือมีค่าสูงน่าจะเกิดจากการเข้าซื้อของกองทุนรวมหลาย ๆ กองที่ต่างฝ่ายต่างกลัว “ตกรถ” ในหุ้นบางตัวซึ่งกันและกัน ทำให้กองทุนรวมหุ้นเป็นคนไล่ราคาซื้อหุ้นเหล่านี้นั่นเอง
ข้อสรุปและนัยเชิงนโยบาย
จากการวิเคราะห์พฤติกรรมการถือครองหุ้นของกองทุนรวมในประเทศไทยผ่านข้อมูลการถือครองหลักทรัพย์ที่กองทุนประกาศ พบว่ากองทุนรวมในประเทศไทยส่วนมากถึงแม้จะเป็น actively-managed funds ที่มีการคิดค่าธรรมเนียมในระดับสูง ประมาณร้อยละ 1.7 ต่อปี (ข้อมูลของรายงาน Morningstar) ซึ่งสูงกว่าหลายประเทศ แต่กลับมีการถือครองหุ้นอยู่เพียงไม่กี่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในดัชนี SET100 และผลตอบแทนของกองทุนกลับไม่ได้มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับผลตอบแทนดัชนีตลาดรวมเลย
จึงทำให้เกิดคำถามว่าการสนับสนุนทางภาษีเพื่อให้ครัวเรือนได้ลดหย่อนทางภาษีผ่านการลงทุนด้วยกองทุนรวมหุ้นนั้นเป็นนโยบายที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะกองทุนรวมหุ้นในไทยกลับไม่สามารถนำเสนอผลการดำเนินงานที่เหมาะสมกับค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากนักลงทุน หากส่งเสริมช่องทางอื่นที่สามารถได้ผลตอบแทนเทียบเคียงแต่มีค่าบริหารจัดการต่ำกว่านี้ (เช่น exchange-traded funds หรือ ETF ซึ่งเป็นหน่วยลงทุนที่ราคาอิงตามการเปลี่ยนแปลงของของดัชนีที่กำหนด เช่น SET50 และมีค่าบริหารจัดการที่ต่ำกว่ามาก) อาจเป็นประโยชน์กับนักลงทุนมากกว่า