
การปลูกฝังให้เด็กออมเงิน เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างวินัยให้กับเด็กๆ ช่วยให้เด็กรู้จักประหยัดอดออม และรู้จักการรอคอย เพราะกว่าที่เด็กๆ จะได้สิ่งของมาจะต้องใช้เวลาในการออมเงิน ดังสำนวนไทยที่ว่า “เก็บหอมรอมริบ” ซึ่งก็คือ การเก็บรวบรวมไว้ทีละเล็กทีละน้อย ค่อยๆ เก็บสะสมจนพอกพูนมากขึ้นในที่สุด
การทำให้เด็กรู้คุณค่าของเงิน ปลูกฝังให้รู้จักการใช้เงินตั้งแต่ยังเล็ก นับเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเมื่อโตขึ้น จะสามารถวางแผนการใช้เงินได้อย่างเหมาะสม ตามที่ได้ปูพื้นฐานไว้
- สอนให้รู้คุณค่าของเงิน
พ่อแม่สามารถสอนลูกได้ว่า เงินที่หามาได้ พ่อแม่ต้องตั้งใจ และต้องเหนื่อยแค่ไหน เมื่อได้เงินมาแล้วก็ต้องรู้คุณค่าของเงิน ใช้เงินอย่างไรให้คุ้มค่า แม้ว่าเงินจะสามารถซื้อของที่ต้องการได้ แต่ก็ควรรู้ว่าอะไรจำเป็นไม่จำเป็น เพราะเงินที่ได้มานั้นมีวันหมดไป หากใช้โดยไม่วางแผน
- สอนให้รู้จักทำบัญชีรายรับรายจ่าย
มื่อเด็กๆ ได้รับเงินค่าขนมจากพ่อแม่แล้ว อย่าลืมสอนให้ “เก็บก่อนใช้” โดยแบ่งเก็บไว้ก่อน 10% เช่น ได้เงินค่าขนม 100 บาท ให้เก็บเป็นเงินออมก่อน 10 บาท แล้วที่เหลือให้ทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อควบคุมและรับรู้พฤติกรรมการใช้เงินของตัวเองว่าใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง เหลือเก็บเท่าไร ต่อไปจะได้บริหารวางแผนการใช้เงินของตัวเองอย่างเป็นระบบ และเป็นการปลูกฝังวินัยการวางแผนทางการเงินอีกด้วย
- สอนการออมที่คุ้มค่าที่สุด
สอนให้เด็กรู้จักการเก็บออม โดยให้นำเงินที่ได้เป็นค่าขนม แบ่งไว้ออมหยอดกระปุกทุกวัน ฝึกจนเป็นนิสัยติดตัว และบอกถึงประโยชน์ของการออมเงิน ซึ่งกิจกรรมการนับเหรียญ และแบงค์ ถือเป็นกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้นและสนุกสนานกับการนับเงิน และเห็นคุณค่าของเงิน รู้จักอดทนและรอคอยได้ดี เพราะกว่าจะเก็บเงินได้ครบตามต้องการก็ต้องใช้เวลา เมื่อครบตามต้องการแล้วให้เลือกการเก็บออมที่สามารถต่อยอดเงินออมของตัวเองได้ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว อาทิ ออมเงินวันละ 1 บาท พอมีเงินครบ 50 บาท ก็นำมาออมกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เราจะได้เงินสมทบเพิ่มจากรัฐบาล 50% ของเงินออม คิดเป็นเงิน 25 บาท สูงสุด 600 บาทต่อปี
- สอนให้เก็บเงินซื้อของที่อยากได้เอง
วิธีนี้จะทำให้เด็กเห็นความสำคัญของสิ่งของ จะได้รู้ว่ากว่าจะได้ของแต่ละอย่างมาต้องใช้เงินเท่าไร และกว่าจะเก็บเงินซื้อได้ต้องใช้เวลาแค่ไหน ซึ่งเป็นการสร้างนิสัยในการดูแลสิ่งของ ไม่ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็น
- สอนลูกด้วยการเป็นแบบอย่างที่ดีของพ่อแม่
เด็กมักเลียนแบบพฤติกรรมจากผู้ใหญ่ โดยเฉพาะพ่อแม่ และคุณครู เพราะอยู่ใกล้ชิดกันมากที่สุด ทำให้เห็นพฤติกรรมการใช้ชีวิตได้ชัดเจน ดังนั้นควรปลูกฝังนิสัยด้วยการเป็นแบบอย่างที่ดี เช่น ของอะไรที่ซ่อมแซมได้ก็นำมาซ่อมไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่ เวลาพาไปซื้อของก็ซื้อแต่สิ่งที่จำเป็น อธิบายว่าอะไรควรซื้อ ไม่ควรซื้อ เป็นต้น
สิ่งที่สำคัญที่สุด หากอยากปลูกฝังให้เด็กๆ ใช้เงินเป็น และรู้ค่าของเงิน ผู้ใหญ่ใกล้ตัวเด็กจำเป็นต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กได้เห็นพฤติกรรมการใช้เงิน ในแต่ละวัน ถึงแม้ว่าเรื่องการวางแผนทางการเงิน อาจดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับเด็กๆ แต่หากว่าได้เรียนรู้ ได้รู้จักวิธีการบริหารจัดการเงินตั้งแต่ยังเด็ก ก็จะมีทัศนคติเกี่ยวกับการวางแผนทางการเงินในอนาคตที่ถูกต้อง
ใกล้สิ้นปีแล้ว เรามาเตรียมความพร้อมเพื่อวางแผนการจัดการกับภาษีปี 2563 และหาตัวช่วยสำหรับ “การลดหย่อนภาษี” กันดีกว่า โดยตัวช่วยในการลดหย่อนภาษีสามารถแบ่งง่ายๆ เป็น 5 หมวด ดังนี้
หมวดลดหย่อนสำหรับตัวเอง ซึ่งเป็นค่าลดหย่อนภาษีที่เกิดจากตัวเอง และคนในครอบครัว อาทิ ค่าลดหย่อนส่วนตัว ค่าลดหย่อนคู่สมรส ค่าลดหย่อนบุตร ค่าลดหย่อนบิดามารดา ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือทุพพลภาพ ค่าฝากครรภ์และทำคลอด
หมวดการออมและการลงทุนเพื่อวัยเกษียณ การวางแผนการออมและการลงทุนเพื่อวัยเกษียณ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรตระหนักถึงค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เพื่อเป็นหลักประกันในอนาคต ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบให้เลือกวางแผนการออมและการลงทุน โดยรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท ได้แก่ กองทุนการออมแห่งชาติ, กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF),กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ, กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นต้น ซึ่งได้รับความนิยมจากกลุ่มนักลงทุนมาก เพราะนอกจากจะนำเงินที่ลงทุนมาลดหย่อนภาษีได้แล้ว ยังช่วยให้เรามีเงินก้อนไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน หรือเก็บไว้ใช้ในยามเกษียณได้อีกด้วย