
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราทุกคนต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจแล้ว ยังกระทบกับสุขภาพทางการเงินอีกด้วย บางคนถูกลดเงินเดือน บางคนต้องตกงาน และเมื่อไม่มีงานทำก็ขาดรายได้ เริ่มเกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน หากใครมีเงินเก็บอยู่บ้าง
ก็พอจะประคับประครองให้รอดพ้นวิกฤติไปได้ แต่หากใครใช้เงินเดือนชนเดือนไม่เคยเหลือเก็บคงเครียดกันน่าดู ในวิกฤติย่อมมีโอกาสมองสถานการณ์นี้ให้เป็นบทเรียน ที่จะทำให้เราหันกลับมา “ดูแลเงินในกระเป๋า” ของตัวเอง เพื่อเตรียมวางแผนทางการเงินในอนาคตและในยามฉุกเฉิน อย่ารอช้าเราไป “เริ่ม” กันเลยค่ะ
“เริ่มควบคุมรายจ่ายอย่างรัดกุม” อาจจะเป็นเรื่องยากสักหน่อยในสถานการณ์ช่วงนี้ แต่ก็ไม่ยากเกินที่เราจะทำได้ เพียงแค่เราแยกแยะค่าใช้จ่ายในส่วนที่จำเป็น และส่วนที่ไม่จำเป็นให้ชัดเจน โดยจัดสรรค่าใช้จ่ายที่จำเป็นไว้เป็นอันดับแรก จากนั้นค่อยปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก เพื่อนำมาเป็นเงินสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน
“เริ่มมองหาอาชีพเสริม สร้างรายได้” การหาอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้เพิ่มในช่วงวิกฤตินี้ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเอาตัวรอด โดยดูว่าอาชีพไหนที่เหมาะกับเรา เช่น พนักงาน Delivery ก็เป็นอาชีพเสริมที่น่าสนใจไม่น้อย เช่น Lineman, Grab, Food Panda, Get, Lalamove เป็นต้น หรือจะหาช่องทางทำงานออนไลน์เสริม อาทิ ติวเตอร์ออนไลน์ ขายของออนไลน์ หรือผันงานอดิเรกมาทำให้เกิดรายได้ เช่น ทำอาหาร ทำขนม งานฝีมือ เย็บหน้ากากผ้าขาย เป็นต้น
“เริ่มตรวจสอบข้อมูลมาตรการเยียวยาต่างๆ” อาทิ มาตรการช่วยลดค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าอินเตอร์เน็ต โครงการ “คนละครึ่ง” โครงการ “เราชนะ” โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” รวมถึงมาตรการทางการเงินของสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องและการพักชำระหนี้ โดยหากเราเริ่มศึกษาและตรวจสอบคุณสมบัติที่เข้าเกณฑ์การใช้สิทธิ์นั้นๆ แล้ว ก็จะเป็นอีกตัวช่วยในการบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยลดค่าใช้จ่ายอีกด้วย
“เริ่มต้นออมเงิน” เงินออม ถือเป็นตัวช่วยสำคัญในยามฉุกเฉิน โดยวิธีการออมเงินมีหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นวิธีง่ายๆ อย่างการหยอดกระปุก การฝากเงินกับธนาคาร หรือลงทุนกับกองทุนต่าง ๆ อาทิ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) และอีกหนึ่งการออมที่มีความยืดหยุดสูงคือ การออมเงิน กับ กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. ที่สามารถวางแผนการออมเงินได้ตามไลฟ์สไตล์ของคุณ สำหรับนักเรียน นักศึกษา ผู้ประกอบอาชีพอิสระ พ่อค้าแม่ค้า เกษตรกร ที่มีอายุตั้งแต่ 15-60 ปี ส่งเงินออมขั้นต่ำเพียง 50 บาท
สูงสุดไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี มีมากออมมาก มีน้อยออมน้อย ไม่บังคับออมทุกเดือน และรัฐสมทบเงินเพิ่มสูงสุด 100% ตามช่วงอายุ สนใจสอบถามข้อมูลได้ที่ สายด่วนเงินออม 02-049-9000
หากเราเริ่มวางแผนการเงินตั้งแต่วันนี้ เพื่อเตรียมตั้งรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่จะเกิดขึ้น ย่อมเป็นการเสริมสร้างรากฐานชีวิตให้แข็งแรง และสร้างหลักประกันที่มั่นคงสำหรับอนาคตอีกด้วย
สำหรับ “คุณแม่บ้านมือใหม่” หรือ “แม่บ้านวัยเก๋า” คุณได้รับความไว้วางใจและมีหน้าที่จากคนในบ้านในการดูแลเรื่องต่าง ๆ ภายในบ้าน และถือเป็นคนสำคัญที่จะช่วยบริหารจัดการเงินทองของครอบครัวเพื่อให้รายรับ-รายจ่ายในบ้านเพียงพอ และมีเงินเหลือเก็บได้ แต่จะทำอย่างไรถึงจะช่วยให้คุณแม่บ้านประหยัดค่าใช้จ่ายและมีเงินออมเพิ่มขึ้น วันนี้มีเคล็ดลับดี ๆ มาบอกต่อกันค่ะ
- วางแผนก่อนช้อป
เชื่อว่าหลายเวลาไปคนเดินเลือกของ ส่วนใหญ่ก็มักจะได้สินค้าที่ไม่ได้ตั้งใจซื้อตั้งแต่แรกติดมือมาเสมอ ถ้าเผลอมือลั่นแบบนี้บ่อย ๆ เราจะบริหารเงินได้ยากนะคะ ดังนั้นก่อนออกไปช้อปปิ้งควรจดรายการไว้เลยว่าอะไรที่ต้องซื้อบ้าง ที่สำคัญอย่าออกนอกลู่นอกทางไปซื้อของใช้อื่นๆ นอกเหนือจากรายการที่จดไว้ล่ะ
- เช็กโปรโมชั่นเช็คก่อนช๊อป
ร้านไหนลด ห้างไหนซื้อ 1 แถม 1 เราต้องเช็คให้รู้ก่อนออกไปช้อปนะคะ หรือใครไม่ถนัดเล่นโซเชียล จะลองเดินสำรวจตลาดจากหลายๆ ห้างก่อนก็ได้ เปรียบเทียบราคาสินค้าให้แน่ใจ แล้วค่อยเลือกซื้อสินค้าที่คุ้มค่าที่สุด