
นิตยสารการเงินธนาคารได้สรุปแนวคิดการเลือกกองทุนรวมจากการสัมมนาในงาน Mutual Fund Day ครั้งที่ 3 โดย คุณธนัฐ ศิริวรางกูร (หมอนัท) เจ้าของเพจคลินิกกองทุน เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการลงทุนในอนาคต มาดูกันครับ ว่ามีอะไรกันบ้าง
ข้อ 1 ต้องเข้าใจประเภทของกองทุนรวม
กองทุนแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน มีระดับความเสี่ยง 8 ระดับ สำหรับมือใหม่แนะนำให้ลงทุนที่ระดับความเสี่ยง 1-6 ก็เพียงพอสำหรับการจัดพอร์ตโฟลิโอแล้ว
สำหรับคนที่มีประสบการณ์สามารถเพิ่มความเสี่ยงได้ถึงระดับ 7 ซึ่งจะเป็นกองทุนที่ลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียว เช่น ธนาคาร พลังงาน ไอซีที เฮลธ์แคร์ เป็นต้น ถือเป็นความเสี่ยงที่สูงมาก กองทุนจะเป็นไปตามวัฎจักรหรือรอบการลงทุน ก่อนลงทุนต้องเข้าใจกลุ่มอุตสาหกรรมและ Investment Cycle ว่าเป็นอย่างไร
กองทุนรวมที่มีความเสี่ยงระดับ 8 คือ กองทุนรวมสินทรัพย์ทางเลือก เช่น กองทุนน้ำมัน กองทุนทองคำ ผู้ลงทุนต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างมาก กองทุนน้ำมันจะต้องเผชิญความผันผวนในการลงทุน อาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนได้ ในขณะที่กองทุนรวมทองคำเหมาะกับคนที่ต้องการซื้อเพื่อสะสม แต่ควรมีในพอร์ตไม่เกิน 5-10% เพื่อเป็นตัวช่วยบริหารความเสี่ยงของพอร์ต
กองทุนรวมต่างประเทศสามารถเลือกระดับความเสี่ยงได้ตั้งแต่ 1-8 ตามประเภทการลงทุน แต่จะมีความเสี่ยงเพิ่มในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน
ระดับความเสี่ยงสอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุน ดังนั้น จึงต้องตั้งเป้าหมายว่าจะลงทุนเพื่ออะไร ระยะเวลานานแค่ไหน
ข้อ 2 รู้จักการจัดพอร์ตโฟลิโอ
การจัดพอร์ตโฟลิโอจะทำให้ความเสี่ยงในการลงทุนลดลง สามารถทำได้โดยการประเมินความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้จริง แล้วจัดสินทรัพย์ที่เหมาะสม เช่น หากรับความเสี่ยงได้ต่ำ ให้ลงทุนหุ้นได้ไม่เกิน 30% ระดับกลาง ลงทุนหุ้นประมาณ 50% ของพอร์ต
อาจมีการปรับพอร์ตให้เหมาะสมกับเป้าหมายของชีวิต โดยพิจารณาจากปัจจัยด้านระยะเวลาการลงทุน กระแสเงินสด และผลตอบแทนที่ต้องการ โดยการจัดพอร์ตที่ดีต้องมีการกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เช่น กองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนทองคำ กองทุนต่างประเทศ ทั้่งยังช่วยเพิ่มผลตอบแทนให้พอร์ตการลงทุนอีกด้วย
ข้อ 3 ใช้วิธีการซื้อกองทุนที่เหมาะสม
คนที่มีเงินก้อนสามารถลงทุนแบบพอร์ตโฟลิโอได้ทันที แต่สำหรับคนที่มีเงินน้อยสามารถเลือกใช้วิธีลงทุนแบบถัวเฉลี่ย หรือ DCA ตัดเงินอัตโนมัติทุกเดือน คนที่มีประสบการณ์การลงทุนก็อาจเลือกจับจังหวะการลงทุนได้
ข้อ 4 การเลือกกองทุนแบบ “RSF”
R คือ Return กองทุนที่ดี ต้องมีผลตอบแทนสม่ำเสมอ พิจารณาจากผลตอบแทนย้อนหลัง 3-5 ปี ทั้งนี้ การซื้อกองทุนไม่ควรกระจายความเสี่ยงมากเกินไป เพราะกองทุนแต่ละกองมีหุ้นประมาณ 20-30 บริษัทอยู่แล้ว และทำให้การบริหารจัดการลำบาก
S คือ Style ต้องมีความเข้าใจว่ากองทุนที่ลงทุนเป็นแบบไหน เช่น หุ้นขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ สไตล์การลงทุนของผู้จัดการกองทุนเป็นอย่างไร เน้นซื้อขายบ่อย หรือถือยาว กระบวนการลงทุนก็มีส่วนที่สร้างสไตล์การลงทุนเช่นเดียวกัน เช่น ผู้จัดการกองทุนบางคนดูจากสภาพเศรษฐกิจก่อนแล้วจึงดูว่าอุตสาหกรรมใดได้ประโยชน์ และมีหุ้นตัวไหนที่เป็นผู้นำของอุตสาหกรรมหรือเป็นดาวรุ่ง นอกจากนี้ การเข้าไปซื้อหุ้นก็จะรอให้ราคาถูกก่อน ผู้จัดการกองทุนบางคนอาจไม่ได้มองที่เศรษฐกิจ แต่เน้นพิจารณาจากตัวหุ้น ว่างบการเงินเป็นอย่างไร และเข้าไปคุยกับผู้บริหาร
F คือ Fee & Fund Manager ค่าธรรมเนียมกองทุนและผู้จัดการกองทุน
ค่าธรรมเนียมการซื้อขายไม่ได้มีผลมากเพราะไม่ได้ซื้อกองทุนบ่อย แต่สิ่งที่สำคัญ คือ ค่าธรรมเนียมรายปีที่เรียกเก็บจากกองทุนรวม ซึ่งหักจาก NAV จากการวิจัยของ ก.ล.ต. พบว่า ถ้าลงทุน 100,000 บาท ผลตอบแทน 7% โดยลงทุน 20 ปี ถ้าไม่มีค่าธรรมเนียมจะได้ผลตอบแทน 386,000 บาท แต่ถ้ามีค่าธรรมเนียม 2% จะได้เงิน 260,000 บาท แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นกองทุนที่ได้ผลตอบแทนดีมาก นักลงทุนก็ยินดีจ่ายค่าธรรมเนียมที่สูงกว่า โดยต้องดูความสมเหตุสมผล
ข้อ 5 ใช้ Fund Factsheet ให้เป็นประโยชน์
จากข้อ 1 – 4 ดูได้จาก Fund Factsheet เกือบทั้งหมด จึงแนะนำให้อ่าน เนื่องจากเป็นเงินลงทุนเพื่อใช้ในอนาคตของเราเอง ปัจจุบัน Fund Factsheet ปรับรูปแบบใหม่ จะมีประมาณ 8 – 10 หน้า สิ่งแรกที่สำคัญคือนโยบายกองทุนที่บอกสินทรัพย์ กลยุทธ์ รวมถึงเกณฑ์มาตรฐานเพื่อวัดความสามารถของกองทุน ผลตอบแทนย้อนหลัง พอร์ตการลงทุน ข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการตัดสินใจลงทุน
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับ 5 ข้อคิดการเลือกกองทุน ในการลงทุนเราต้องรู้จักหาข้อมูล และบริหารจัดการตัวเราเอง ถึงแม้ผู้จัดการกองทุนจะเก่ง แต่การตัดสินใจลงทุนจะอยู่บนพื้นฐานของเราเอง สำหรับข้อควรระวังในการลงทุนคือ ไม่ควรซื้อกองทุนที่ไม่เหมาะสมกับตัวเอง เช่น เป้าหมายลงทุนระยะสั้น แต่ไปซื้อกองทุนหุ้น หรือเป้าหมายลงทุนระยะยาว แต่ไปซื้อกองทุนตราสารหนี้ เป็นต้น รวมถึงอย่ากระจายกองทุนหลายกองมากเกินไป ของใหม่ อาจไม่ใช่ของดี และต้องเข้าใจแนวคิดและกลยุทธ์การลงทุนเสมอ