
- ฟรี! …สำหรับผู้สูงอายุ
1.1 ยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐ อาทิ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ อุทยานประวัติศาสตร์ สถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และองค์การสวนพฤกษศาสตร์
1.2 เงินสงเคราะห์ศพ ในกรณีที่ผู้สูงอายุเสียชีวิต ไม่มีญาติ หรือมีญาติแต่มีฐานะยากจน สามารถรับค่าจัดการศพ จำนวน 2,000 บาท โดยรายละเอียดเป็นไปตามเงื่อนไขตามประกาศของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กำหนด
1.3 รับเบี้ยยังชีพตลอดชีวิต โดยแบ่งช่วงอายุ แบบขั้นบันได ดังนี้
- อายุ 60-69 ปี จะได้รับเดือนละ 600 บาท
- อายุ 70-79 ปี จะได้รับเดือนละ 700 บาท
- อายุ 80-89 ปี จะได้รับเดือนละ 800 บาท
- อายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับเดือนละ 1,000 บาท
โดยคุณสามารถเช็คสิทธิ์และลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขต หรือเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
- ส่วนลด…สำหรับผู้สูงอายุ
2.1 ส่วนลดในการนั่งเครื่องบินของบริษัทการบินไทย จํากัด (มหาชน) ในอัตราร้อยละ 15, 30, 35 และสิทธิการอำนวยความสะดวกขึ้นเครื่องเป็นลำดับแรก โดยรายละเอียดเป็นไปตามเงื่อนไขของบริษัทการบินไทยกำหนด
2.2 ส่วนลดค่าโดยสารครึ่งราคาและสิทธิพิเศษอื่นๆ
• รถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ลดค่าโดยสารครึ่งราคา และได้รับการยกเว้น ค่าโดยสารในวันผู้สูงอายุแห่งชาติ (13 เมษายน ทุกปี)
• รถไฟฟ้าบีทีเอส ลดค่าโดยสารครึ่งราคา และมีลิฟท์บริการสำหรับผู้สูงอายุ
• การรถไฟแห่งประเทศไทย ลดค่าโดยสารครึ่ง ราคาทุกสาย ทุกประเภทชั้นที่นั่ง (ไม่รวมค่าธรรมเนียม)
• รถโดยสารบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ลดค่าโดยสารครึ่งราคา (ไม่รวมค่าธรรมเนียม) และมีบริการที่นั่งพักผ่อนและห้องสุขาสำหรับผู้สูงอายุ
• เรือด่วนเจ้าพระยา / เรือในคลองแสนแสบ / เรือข้ามฝาก ลดค่าโดยสารครึ่งราคา ในทุกเส้นทางเรือ
- สิทธิรับบำนาญหลังอายุ 60 ปี สำหรับผู้สูงอายุที่ทำงานในระบบ หรือรับราชการ จะได้รับเงินบำเหน็จบำนาญจากการทำงานในระบบ สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ พ่อค้า แม่ค้า ชาวไร่ ชาวนา คุณก็สามารถมีบำนาญไว้ใช้ในวัยเกษียณได้ เพียงวางแผนการออมเงินกับ “กอช.” ตั้งแต่วันนี้ เริ่มต้นเพียง 50 บาทต่อปี จะได้รับเงินสมทบจากรัฐบาลสูงสุด 100% ตามช่วงอายุ ซึ่งรับรองได้ว่าคุณจะมีบำนาญใช้หลังอายุ 60 ปีแน่นอน
- สิทธิฝึกอาชีพ สร้างรายได้ในวัยเกษียณ โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานการสงเคราะห์และสวัสดิภาพสังคม จัดสวัสดิการสังคมแก่ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร รวมถึงสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยประจำจังหวัด ได้เปิดหลักสูตรทักษะประกอบอาชีพต่างๆ มากถึง 100 หลักสูตร ซึ่งนอกจากจะเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์แล้ว ยังสามารถสร้างรายได้หลังวัยเกษียณได้อีกด้วย
- สิทธิกู้ยืมเงินทุน เมื่อได้รับการฝึกอาชีพแล้ว ผู้สูงอายุหลายๆ ท่าน อยากจะประกอบอาชีพ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ก่อตั้ง “กองทุนผู้สูงอายุ” เพื่อให้ผู้สูงอายุกู้ยืมเงินทุนไปประกอบอาชีพทั้งในรูปแบบรายบุคคล หรือรายกลุ่ม ไม่มีดอกเบี้ย สามารถผ่อนชำระได้เป็นรายงวดภายในระยะเวลา 3 ปี
- สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คุ้มครองผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการข้าราชการ หรือสิทธิประกันสังคม หรือสิทธิสวัสดิการรัฐวิสาหกิจ หรือสิทธิหน่วยงานรัฐอื่นๆ ให้มีสิทธิเข้าถึงบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ รวมถึงผู้สูงอายุ ที่มีภาวะพึ่งพิงหรือป่วยติดเตียง สามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพที่บ้านได้
“ความยากจน” เป็นปัญหาที่คู่กับสังคมไทยมาเป็นระยะเวลานาน ประชาชนส่วนใหญ่ต้องประะสบกับสภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงิน สาเหตุหลักคือ “ขาดการวางแผนทางการเงิน” เมื่อเจ็บป่วย หรือประสบกับเหตุการณ์ฉุกเฉิน ทำให้ไม่มีเงินใช้จ่ายในยามจำเป็น ต้องไปกู้ยืม ทั้งในระบบและนอกระบบ ก่อให้เกิดปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ส่งผลกระทบให้การดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ยิ่งยากลำบากเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หาเช้ากินค่ำ ผู้ที่มีรายได้น้อย และไม่แน่นอน รู้ตัวอีกทีก็สายเสียแล้ว เมื่อก้าวเข้าสู่วัยชรา ไม่มีเรี่ยวแรงในการทำงาน โรคภัยรุมเร้า กลายเป็นภาระของลูกหลาน เกิดปัญหาผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งตามมาอีก
หากคุณไม่อยาก “ลำบากตอนแก่” หรือ “เป็นภาระลูก หลาน” ในยามชรา ยังไม่สายเกินไป หากคุณจะเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงตัวเองตั้งแต่วันนี้ โดยเริ่มจากการวางแผนทางการเงินง่ายๆ ด้วยการ “ลดรายจ่าย” ใช้จ่ายอย่างมีสติ จัดสรรค่าใช้จ่ายให้เพียงพอกับรายรับที่ได้ ไม่ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น “เพิ่มรายได้” หากคุณลองวางแผนทางการเงินดูแล้ว แต่รายจ่ายยังแซงหน้ารายรับ แนะนำให้ หารายได้เสริม เช่น การขายของออนไลน์ รับจ้างตามความถนัด ทำงานพาร์ทไทม์ เป็นต้น