
แอสตันมาร์ติน แวนควิซ เป็นรถยนต์นั่งประเภทหรูหราสมรรถนะสูง เครื่องยนต์กลางลำหน้า ขับเคลื่อนสองล้อท้าย (FMR) 2 ประตู 2+2/2+0 ที่นั่ง ผลิตโดยบริษัทรถยนต์สัญชาติอังกฤษ แอสตันมาร์ติน เปิดตัวครั้งแรกในปี ค.ศ. 2001 เป็นหนึ่งในรุ่นที่มารับช่วงต่อจากวิเรจ (Virage) โฉมแรกของแวนควิซ ได้รับการออกแบบโดย เอียน แคลลุม (Ian Callum) รถได้เปิดเผยสู่สาธารณชนที่งานเจนีวามอเตอร์โชว์ ปี ค.ศ. 2001 และได้ยุติการผลิตในปี 2005 ส่วนแวนควิซ เอส (Vanquish S) ซึ่งมีกำลังเครื่องยนต์และสมรรถนะที่สูงกว่า ได้เปิดตัวในปี ค.ศ. 2004 จนต่อมาในปี ค.ศ. 2007 แวนควิซ เอส ก็ได้ยุติการผลิตทั้งหมด และถูกแทนที่ด้วยรุ่น ดีบีเอส วี12 ในปี ค.ศ. 2012 แวนควิซ ในโฉมที่ 2 ก็ได้เปิดตัวอีกครั้ง หลังจากยุติการผลิตไปนานถึง 5 ปี จึงทำให้ แวนควิซ ในโฉมที่ 2 ถูกสร้างมาเพื่อแทนที่ ดีบีเอส วี12 ด้วย
แอสตันมาร์ติน แวนควิซ ในโฉมที่ 1 มีชื่อเสียงจากการที่เป็นรถของเจมส์บอนด์ ในภาค ดาย อนัทเธอร์ เด
โฉมที่ 1 แอสตันมาร์ติน วี12 แวนควิซ (Aston Martin V12 Vanquish) ผลิตตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001-2005 (เป็นจำนวน 1,492 คัน) ได้รับการออกแบบโดย นักออกแบบรถชาวอังกฤษ เอียน แคลลุม (Ian Callum) รถได้ใช้ชื่อโครงการว่า Project Vantage Concept ด้วยรูปลักษณ์ของรถที่มีขนาดใหญ่กว่า ตัวถังที่ทำมาจากอะลูมิเนียมและคาร์บอน แอสตันมาร์ติน ดีบี7 มาพร้อมกับเครื่องยนต์ V12 ขนาด 5,935 ซีซี (5.9 ลิตร; 362.2 cu in) มีจำหน่ายทั้งแบบ 2+0 ที่นั่ง (2 ที่นั่ง) และแบบ 2+2 ที่นั่ง (4 ที่นั่ง) แอสตันมาร์ติน วี12 แวนควิซ สามารถให้กำลังสูงสุดถึง 456 PS (335 kW; 450 bhp) และแรงบิดสูงสุด 540 N·m (400 lb·ft) ใช้ระบบเกียร์ธรรมดาอิเล็กโทรไฮดรออิก 6 จังหวะ ( Electrohydraulic manual ) ระบบเบรกแบบ เอบีเอส (ABS)
แอสตันมาร์ติน วี12 แวนควิซ ได้รับการจัดอันดับ ให้อยู่อันดับ 3 รถที่ประกอบภาพยนตร์ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา (Best Film Cars Ever) ตามหลังเพียง มินิ ในภาพยนตร์ เดอะอิตาเลียนจอบ และ แอสตันมาร์ติน ดีบี5 ซึ่งใช้ประกอบภาค จอมมฤตยู 007 และในภาค ธันเดอร์บอลล์ 007 ของภาพยนตร์ชุดเจมส์ บอนด์ แอสตันมาร์ติน แวนควิซ เอส (Aston Martin Vanquish S) เปิดตัวครั้งแรกที่งานปารีสออโตโชว์ปี ค.ศ. 2004 มาพร้อมกับกำลังและสมรรถนะที่เพิ่มขึ้นกว่า แวนควิซ ตัวปกติ สำหรับตัวซีซียังคงเดิมไว้ที่ 5,935 ซีซี เช่นเดิม แต่กำลังเพิ่มขึ้นจาก 456 เป็น 520 แรงม้า (340 to 390 kW) ทำให้แวนควิซ เอส กลายเป็นรถที่เร็วที่สุดเท่าที่ แอสตันมาร์ติน เคยสร้างมา จนกระทั่งวี12 แวนทิจ เข้ามาครองบัลลังค์แทนในเดือนพฤษภาคมปี ค.ศ. 2013 รถได้ยุติการผลิตลงในวันที่ 19 กรกฎาคม ปี ค.ศ. 2007 ผลิตมาเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,086 คัน ผู้ที่ชื่นชอบแอสตันมาร์ติน บางคนกล่าวถึง แวนควิซ เอส ที่ยุติการผลิตลงว่า เป็นรถแอสตันมาร์ตินคันสุดท้ายที่มีความเป็นแอสตันมาร์ตินมากที่สุด
โฉมที่ 2 แอสตันมาร์ติน แวนควิซ ได้ชื่อโปรเจ็กต์ว่า “เอเอ็ม310” ( AM310 ) ผลิตมาเพื่อแทน แอสตันมาร์ติน ดีบีเอส วี12 ซึ่งได้ยุติการผลิตไปในปี ค.ศ. 2012 แวนควิซ โฉมที่ 2 มาพร้อมกับ เครื่องยนต์ขนาด 5,935 ซีซี (5.9 ลิตร; 362.2 cu in) V12 มีกำลัง 573 PS (421 kW; 565 bhp) ที่ 6,750 rpm และแรงบิดสูงสุดที่ 620 N·m (460 lb·ft) ที่ 5,500 rpm รถขับเคลื่อนด้วยล้อหน้า ระบบเกียร์แบบอัตโนมัติ 6 จังหวะ และจำหน่ายแบบ 2+2 ที่นั่ง (4 ที่นั่ง) เพียงอย่างเดียว[5] ซึ่งต่างกับโฉมก่อนหน้านี้ที่มีให้เลือก 2 แบบ
แอสตันมาร์ตินก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2456 โดย ลีโอเนล มาร์ติน และโรเบิร์ต แบมฟอร์ด (Robert Bamford) โดยก่อนหน้านั้นหนึ่งปี ได้ตั้งบริษัท Bamford & Martin เพื่อจำหน่ายรถยนต์ที่ผลิตโดย ซิงเกอร์ (Singer) ในกรุงลอนดอน โดยนอกจากรถซิงเกอร์แล้ว ยังมีการให้บริการบำรุงรักษารถจีดับเบิลยูเค และรถคัลธอร์ป (Calthorpe) ด้วย
ลีโอเนล มาร์ติน ร่วมลงแข่งรถที่เนินแอสตัน ใกล้กับหมู่บ้านแอสตันคลินตัน และได้ตัดสินใจที่จะสร้างรถยนต์ขึ้นมาเอง รถยนต์คันแรกใช้ชื่อว่าแอสตันมาร์ติน สร้างโดยมาร์ติน โดยประกอบเครื่องยนต์ Coventry-Simplex แบบสี่สูบเข้ากับโครงรถ Isotta-Fraschini รุ่นปี พ.ศ. 2451 ต่อมาพวกเขาตั้งบริษัทขึ้นที่ Henniker Place ในเมืองเคนซิงตัน และผลิตรถยนต์คันแรกในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2458 แต่สายการผลิตรถแอสตันมาร์ตินนั้นไม่ได้เกิดขึ้น เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 และทั้งคู่เข้าร่วมรบกับกองทัพของอังกฤษ เครื่องจักรทั้งหมดจึงถูกขายให้กับ Sopwith Aviation นึ่งสงบลง ได้ก่อตั้งบริษัทขึ้นใหม่ที่ Abingdon Road ในเมืองเดิมคือเมืองเคนซิงตัน และได้มีการออกแบบรถขึ้นมาใหม่ในชื่อแอสตันมาร์ตินเหมอนเดิม แบมฟอร์ดถอนตัวจากบริษัทในปี พ.ศ. 2463 และได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก Count Louis Zborowski ในปี พ.ศ. 2465 ได้เริ่มมีการผลิตรถเพื่อใช้สำหรับแข่งขัน และได้มีการสร้างสถิติต่างๆ ขึ้นด้วยรถดังกล่าวที่สนามบรูกแลนด์ส
ต่อมาในปี พ.ศ. 2467 บริษัทเกิดล้มละลาย และเลดีชาร์นวูด (Lady Charnwood) เข้าซื้อกิจการ แต่ก็ล้มละลายอีกครั้งในปีถัดมา โรงงานของแอสตันมาร์ตินปิดตัวไปในปี พ.ศ. 2469 พร้อมกับการที่ลีโอเนล มาร์ติน ถอนตัวออกจากบริษัท ในปีเดียวกัน บิล เร็นวิค, ออกุสตัส (เบิร์ท) เบอร์เทลลี และนักลงทุนอีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งเลดีชาร์นวูดด้วย ได้ร่วมกันเป็นหุ้นส่วนในบริษัท และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นแอสตันมาร์ตินมอเตอร์ส และย้ายบริษัทไปยังที่ตั้งเดิมของ Whitehead Aircraft Limited works ในเมืองเฟลแธม (Feltham) จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2475 บริษัทมีปัญหาทางด้านการเงินอีกครั้ง และได้ L. Prideaux Brune เข้ามาร่วมลงทุน ก่อนที่บริษัทจะเป็นของเซอร์อาเธอร์ ซัทเธอร์แลนด์ ในปี พ.ศ. 2479 มีการผลิตรถแอสตันมาร์ตินประมาณ 700 คัน ก่อนเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่สอง และในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้นมีการผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินโดยแอสตันมาร์ติน